ปกติแล้วโปรแกรมทุกๆ โปรแกรม จะทำงานจากบนลงล่าง และประมวลผลจากซ้ายไปขวา เมื่อทำงานเสร็จก็ถือว่าจบการทำงาน ถ้าหากเราต้องการทำงานเดิม ก็ต้องเขียนโปรแกรมซ้ำอีก ฟังก์ชั่นเลยเป็นที่รวบรวมส่วนที่เราจะเรียกใช้งานบ่อยๆ ให้รวมเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน โดยเรียกเพียงชื่อฟังก์ชั่นเท่านั้น ก็จะได้โปรแกรมที่ทำงานตามที่เราต้องการ และยังมีข้อดีคือ ถ้าหากต้องการแก้ไข ก็แก้ไขเพียงแต่ในฟังก์ชั่นเท่านั้น โปรแกรมทั้งหมดของเราก็จะทำงานตามการทำงานของฟังก์ชั่นที่แก้ไขเลย

Function ในภาษา PHP มาอยู่ 4 ชนิดคือ

  1. ฟังก์ชั่นภายใน (invoking a function)
  2. ฟังก์ชั่นที่สร้างขึ้นมาเอง (creating a function)
  3. ฟังก์ชั่นซ้อนฟังก์ชั่น (nesting function)
  4. ฟังก์ชั่นเรียกตัวเอง (recursive function)

1. ฟังก์ชั่นภายใน

เป็นฟังก์ชั่นพื้นฐานที่มากับ php (ชื่อก็บอกอยู่แล้ว) มีราวๆ พันกว่าฟังก์ชั่น (ใครเคยนับบ้างเนี่ย) ซึ่งจะครอบคลุมการทำงานพื้นฐา่นทั้งหมดของการเขียนโปรแกรม PHP จนบางครั้ง เราสามารถเขียนโปรแกรมที่ทำงานได้จริงโดยไม่จำเป็นต้องเขียนฟังก์ชั่นเพิ่มเติมเลยแม้แต่ฟังก์ชั่นเดียว เหมือนที่ผมเคยได้ยินมาว่า “คนที่เขียนโปรแกรมเก่ง ไม่จำเป็นต้องเขียนโค๊ดได้ดี เพียงแค่รู้จักฟังก์ชั่น แล้วรู้จักใช้มันก็พอ”

ฟังก์ชั่นภายในทั้งหลาย สามารถดูได้จาก help ของ PHP ได้ โดยโหลดได้ที่ http://www.php.net/docs.php

ตัวอย่างฟังก์ชั่นภายใน ผมขอยกตัวอย่างฟังก์ชั่น pow() ถ้าหากเปิดดู help จะเขียนเป็นลักษณะนี้

number pow ( number $base, number $exp )
  • number คือ ค่าที่ฟังก์ชั่นนี้ส่งกลับออกมา (return) ซึ่งเดี๋ยวเราค่อยมาอธิบายกัน
  • pow คือ ชื่อฟังก์ชั่น
  • (number $base, number $exp) คือ ค่าที่ต้องส่งให้ฟังก์ชั่นนี้ โดย number หมายถึงชนิดของค่า (datatype) ที่ต้องส่งไปให้

เพราะฉะนั้น ฟังก์ชั่น pow() เราต้องส่งค่าให้จำนวน 2 ค่า เมื่อฟังก์ขั่นทำงานเสร็จแล้วจะคืนค่ากลับมาเป็นชนิดตัวเลข

 <?php
	$value = pow(5,2);	// เรียกฟังก์ชั่น pow() โดยส่งค่า 5 เป็นเลขฐาน และ 2 เ้ป็นเลขชี้กำลัง แล้วเก็บค่าไว้ที่ตัวแปร $value
	echo $value;	// พิมพ์ค่าจากตัวแปร $value
?> 

ถ้าหากเราไม่ได้นำค่าที่ได้ไปทำการคำนวน เราสามารถแสดงค่าออกมาได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องเก็บค่าไว้ในตัวแปรใดๆ ลองดูตัวอย่างกันครับ

 <?php
	echo pow(5,2);	// พิมพ์ค่า 5 ยกกำลัง 2 ออกทางหน้าจอเลย
	echo "<br />";
	echo "ผลลัพท์ของ 5 ยกกำลัง 2 คือ " . pow(5,2);
?> 

เห็นไหมครับ ไม่ยากเลย แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าฟังก์ชั่นไหน ใช้งานอย่างไร หรือเราจะใช้ฟังก์ชั่นไหนทำงานให้เรา อันนี้ก็ต้องอยู่ที่แต่ละท่านล่ะครับ ถ้าหากเล่นบ่อยๆ ก็จะพบกับฟังก์ชั่นที่เรายังไม่เคยใช้งานเองแหละครับ ถึงแม้ว่า PHP จะมีฟังก์ชั่นมากกว่า 1000 ฟังก์ชั่น แต่ที่ใช้งานทั่วๆ ไป จะมีไม่ถึง 200 ฟังก์ชั่นครับ (ลดไปเยอะเลย)

2.ฟังก์ชั่นที่สร้างขึ้นมาเอง

เป็นฟังก์ชั่นที่สร้างขึ้นมาเอง เพื่อให้ทำงานนอกเหนือจากฟังก์ชั่นที่มีอยู่ใน PHP หรือเราต้องการให้โปรแกรมทำงานตรงกับความต้องการของเรา รูปแบบการเขียนฟังก์ชั่นเป็นดังนี้

 <?php
	function ชื่อฟังก์ชั่น (ค่าที่ส่งให้) {
		การทำงานของฟังก์ชั่น
	}
?> 

ลองดูตัวอย่างการสร้างฟังก์ชั่นชื่อ cmdevhub() กันครับ

 <?php
	function cmdevhub() {
		echo "welcome to cmdevhub";
	}

	// เราสามารถเรียกฟังก์ชั่นได้โดยเรียกจากชื่อฟังก์ชั่น

	cmdevhub();	// พิมพ์ welcome to cmdevhub
?> 

เห็นไหมครับ ไม่ยากเลย ส่วนข้อกำหนดในการสร้างฟังก์ชั่นนั้นก็เหมือนกันการสร้างตัวแปรเลยครับ ถ้าหากจำไม่ได้ก็ย้อนกลับไปดูได้เลย

หลังจากเราสร้างฟังก์ชั่นได้แล้ว ฟังก์ชั่นของเราจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยถ้าหากไม่สามารถรับค่าเพื่อใช้คำนวนตามที่เราต้องการได้ การส่งค่าให้ฟังก์ชั่นทำการคำนวนนั้นมี 2 รูปแบบคือ ส่งค่าไปตรงๆ เลย และ ส่งค่าอ้างอิงตำแหน่งของตัวแปร ส่วนวิธีการรับค่าของฟังก์ชั่นทำได้โดยใส่ตัวแปรเข้าไปใน ( ) มาดูตัวอย่างกัน

2.1 การส่งค่าโดยตรง

 <?php
	function cArea($r) {	// ฟังก์ชั่นหาพื้นที่วงกลม
		echo $r * 22 / 7;
	}
	function sArea($h, $w) {	// ฟังก์ชั่นหาพื้นที่สี่เหลี่ยม
		echo $h * $w;
	}

	cArea(15);	// ผลลัพท์ 47.1428571429
	echo "<br />";
	sArea(3, 15); // ผลลัพธ์ 45
?> 

เราสามารถส่งค่าไปให้ฟังก์ชั่นโดยใช้ค่าที่อยู่ในตัวแปรส่งไปได้ด้วย

 <?php
	function sArea($h, $w) {
		echo $h * $w;
	}

	$width = 12;
	$height = 3;
	sArea($width, $height);
?> 

ถ้าหากส่งค่าให้ฟังก์ชั่นมากเกินกว่าที่ฟังก์ชั่นรับไว้ ค่าที่เกินมา จะไม่ถูกนำไปใช้งาน แต่ถ้าหากส่งค่าไปไม่ครบจะเกิดข้อผิดพลาด Warning: Missing argument ตรงนี้ก็ระวังกันด้วยนะครับ

2.2 การส่งค่าอ้างอิงตำแหน่งตัวแปร

โดยปกติการส่งค่าให้ฟังก์ชั่นจะทำการส่งค่าของตัวแปรนั้นๆ เข้าไปยังฟังก์ชั่นเลย ถ้าหากต้องการผลลัพธ์ของการคำนวนก็ทำการคืนค่า (return) กลับมา แต่เราสามารถเขียนให้ง่ายกว่านั้นได้อีก โดยการส่งตำแหน่ง (address) ของตัวแปรนั้นเข้าไปยังฟังก์ชั่นแทน ก็สามารถทำการคำนวนและเปลี่ยนค่าของตัวแปรที่เราต้องการได้โดยไม่ต้องทำการคืนค่ากลับออกมา ตัวอย่างที่ผมใช้บ่อยและใช้ตลอดก็คือการคำนวนภาษี (ยังหาโปรแกรมอื่นๆ ที่ใช้ฟังก์ชั่นแบบนี้ไม่ได้เลย) ลองดูตัวอย่างกันครับ

 <?php
	function cal_tax(&$cost, $tax) {
		$cost += $cost * $tax;
	}

	$cost = 200;
	$tax = 0.07;

	echo "จำนวนเงินก่อนคำนวนภาษี " . $cost;	// ผลลัพธ์ 200
	echo "<br />";

	cal_tax($cost, $tax);

	echo "จำนวนเงินหลังคำนวนภาษี " . $cost;	// ผลลัพธ์ 214
?> 

จะเ้ห็นว่า เราสามารถเปลี่ยนตัวแปร $cost โดยไม่ต้องทำการคืนค่าในฟังก์ชั่นเลย จริงๆ แล้ว ตัวอย่างด้านบนสามารถเขียนได้อีกแบบดังนี้

 <?php
	function cal_tax($cost, $tax) {
		$cost += $cost * $tax;
		return $cost;
	}

	$cost = 200;
	$tax = 0.07;

	echo "จำนวนเงินก่อนคำนวนภาษี " . $cost;
	echo "<br />";

	$cost = cal_tax($cost, $tax);

	echo "จำนวนเงินหลังคำนวนภาษี " . $cost;
?> 

ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จะเหมือนกันทุกอย่าง แต่การเรียกใช้งานจะไม่เหมือนกัน จุดนี้ก็แล้วแต่ล่ะครับ ว่าจะเลือกใช้วิธีไหน ถ้าหากทำงานเ็ป็นทีม การใช้งานฟังก์ชั่นที่คืนค่ากลับมาจะเข้าใจได้ง่ายกว่า แต่ถ้าหากทำงานไม่กี่คน หรือแค่คนเดียว การอ้างอิงหน่วยความจำจะทำให้โค๊ดสั่นกว่า และเข้าใจยากกว่า (ถ้าหากเราลืม อิอิ) เอาเ็ป็นว่า รู้ไว้เฉยๆ ก็ได้ครับ เพราะบางทีเราอาจจะไม่ได้เขียนฟังก์ชั่นแบบนี้เลยก็ได้ (แต่ลองใช้แล้วจะติดใจ)

2.3 การกำหนดค่าเริ่มต้นให้ฟังก์ชั่น

ในการสร้างฟังก์ชั่นที่ทำการรับค่านั้น เราจำเป็นที่จะต้องส่งค่าให้กับฟังก์ชั่นนั้นๆ จนครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ ถ้าหากส่งค่าไม่ครบจะเกิดข้อผิด Warning: Missing argument ขึ้น หรือ ถ้าเราต้องการสร้างฟังก์ชั่นที่เรารู้ค่าที่ใช้คำนวนอยู่แล้ว เช่นฟังก์ชั่นที่คิดภาษีที่เรารู้อยู่แล้วว่าต้องคิดที่ 7% แต่ต้องการให้สามารถเปลี่ยนค่าได้โดยที่ไม่ต้องแก้ไขฟังก์ชั่นใหม่ ก็สามารถทำการกำหนดค่าเริ่มต้นขึ้นมาได้เลย ลองดูตัวอย่างกัน

 <?php
	function cal_tax(&$cost, $tax = 0.07) {
		$cost += $cost * $tax;
	}
	$cost = $cost1 = 200;
	echo "จำนวนเงินก่อนคำนวนภาษี " . $cost;
	echo "<br />";
	cal_tax($cost);
	echo "จำนวนเงินหลังคำนวนภาษี " . $cost;
	echo "<hr />";
	echo "คิดภาษีที่ 10%";
	echo "<br />";
	echo "จำนวนเงินก่อนคำนวนภาษี " . $cost1;
	echo "<br />";
	cal_tax($cost1, 0.1);
	echo "จำนวนเงินหลังคำนวนภาษี " . $cost1;
	echo "<br />";
?> 

จากตัวอย่าง ทำการผสมผสานกันระหว่างการเรียกฟังก์ชั่นโดยใช้อ้างอิงตำแหน่งตัวแปร กับการกำหนดค่าเริ่มต้นให้ฟังก์ชั่น จะเห็นได้ว่า เราเรียกฟังก์ชั่นครั้งแรกโดยไม่ส่งค่าไปแค่ตัวเดียวคือตำแหน่งของตัวแปร $cost เราได้ทำการกำหนดค่าเริ่มต้นให้ตัวแปร $tax แล้วทำให้ตัวแปร $tax มีค่า 0.07 ตามที่เรากำหนดไว้ แต่พอเรียกครั้งที่สองเราได้ส่งค่า 0.1 ให้กับตัวแปร $tax ด้วย ทำให้ค่าของตัวแปร $tax ถูกเปลี่ยนจาก 0.07 เป็น 0.1 แทน

2.4 การคืนค่าของฟังก์ชั่น

ในการสร้างฟังก์ชั่นขึ้นมาใช้งานนั้น ถ้าหากไม่มีการส่งค่ากลับคืนมาเมื่อทำงานเสร็จ ฟังก์ชั้นนั้นก็แทบจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย เนื่องจากไม่สามารถนำค่าที่ฟังก์ชั่นคำนวนได้กลับมาใช้งาน การคืนค่าของฟังก์ชั่น สามารถทำได้โดยใช้คำสั่ง return โดยสามารถคืนค่าจากผลลัพธ์การคำนวนได้หนึ่งค่า หรือถ้าต้องการคืนหลายๆ ค่าพร้อมกัน สามารถใช้ตัวแปรแบบ array หรือ list ก็ได้ ลองดูตัวอย่างกันครับ

การคืนค่าหนึ่งค่า

 <?php
	function cal_tax($cost, $tax = 0.07) {
		$cost += $cost * $tax;
		return $cost;
	}

	$cost = 200;
	echo "ค่าก่อนคำนวนภาษี " . $cost;
	$cost = cal_tax($cost);
	echo "<br />";
	echo "ค่าหลังคำนวนภาษี " . $cost;
?> 

การเรียกใช้งานฟังก์ชั่นที่มีการคืนค่านั้น จำเป็นต้องมีตัวแปร หรือคำสั่งใดๆ รองรับการคืนค่านั้นๆ ไม่เช่นนั้นแล้ว ค่าที่คืนกลับมา ก็ไม่สามารถนำไปใช้งานใดๆ ได้เลย

การคืนค่าหลายค่า

การคืนค่าหลายๆ นั้น ต้องทำให้ตัวแปรนั้นเป็น array ก่อน โดยจะสร้างให้ตัวแปรนั้นเป็น array หรือใช้คำสั่ง list() ในการรับค่าก็ได้ ตัวอย่างการใช้ฟังก์ชั่น list()

 <?php
	$color = array('red', 'green',' blue');
	list($red, $green, $blue) = $color;
	// ตัวแปร $red เก็บค่า red, $green เก็บค่า green, $blue เก็บค่า blue
?> 

ตัวอย่างการใช้งานฟังก์ชั่นที่คืนค่าแบบ array

 <?php
	function user() {
		$name[] = "POP EYE";
		$name[] = "shikimasan[a]gmail[dot]com";
		$name[] = "www.cmdevhub.com";
		return $name;
	}
	// รับค่าโดยใช้ฟังก์ชั่น list ต้องทำการสร้างตัวแปรรับค่าให้ตรงกับค่าที่คืนกลับมา
	list($name, $email, $web) = user();

	// รับค่าโดยใช้ตัวแปร ทำให้ตัวแปรนั้นถูกเปลี่ยนเป็นแบบ array โดยอัตโนมัติ
	$name = user();

	// การอ้างอิงค่าต้องทำการอ้างอิงจาก index ของ array โดยตรง
	echo $name[0];
	echo $name[1];
?> 

จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่าเราสามารถรับค่าจากฟังก์ชั่นที่คืนค่าเป็น array ได้ทั้ง 2 แบบ แต่ในการใช้งานจริงๆ จะใช้ฟังก์ชั่น list() รับค่ามากกว่า เพราะต้องกำหนดตัวแปรให้กับค่าที่คืนมาแต่ละค่า ซึ่งจะสื่อความหมายมากกว่ารับค่าโดยใช้ตัวแปรและอ้างอิงโดยใช้หมายเลข index อ้างอิง

2.5 ฟังก์ชั่นซ้อนฟังก์ชั้น (Nesting Function)

ในภาษา PHP เราสามารถสร้างฟังก์ชั่นขึ้นมาภายในฟังก์ชั่นอีกทีได้ แบบตัวอย่าง

 <?php
	function cal_tax ($price, $tax) {
		function cal_vat ($total) {
			return $total * 0.07;
		}
		$price += $price * $tax;
		echo "จำนวนเงินทั้งหมดหลังรวมภาษี " . $price . " หลังรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม " . ($price + cal_vat($price));
	}
	cal_tax(1500, 0.1);	// ผลลัพธ์ 1650 , 1765.5
	echo "<br />";
	echo cal_vat(100);	// ผลลัพธ์ 7
?> 

Nesting Function ของภาษา PHP ไม่มีการกำหนดระดับของการเข้าถึง (scope) ทำให้ไม่ว่าจะเขียนฟังก์ชั่นไว้ที่ไหน ก็สามารถเรียกใช้ได้ การเขียนแบบนี้ ไม่ค่อยได้ใช้ในชีวิตจริงเท่าไหร่ แต่ก็ให้รู้ไว้ว่าเราสามารถสร้างฟังก์ชั่นแบบนี้ได้ เผื่อเอาไปสอบ CERT นะครับ

2.6 ฟังก์ชั่นเรียกตัวเอง (Recursive Function)

ฟังก์ชั่นเรียกตัวเอง ใช้สำหรับทำงานซ้ำๆ กันโดยที่เราไม่รู้จำนวนรอบในการทำงาน โดยจะมีจุดสิ้นสุดการทำงานอยู่ในฟังก์ชั่นเองอยู่แล้ว เพื่อให้ฟังก์ชั่นหยุดการทำงาน การเขียนฟังก์ชั่นแบบเรียกตัวเอง จะลดระยะเวลาในการเขียนโปรแกรมไปได้อย่างมาก แต่ปัญหาคือการออกแบบและเขียนได้ยากมาก ทำให้ไม่ค่อยได้เห็นคนเขียนฟังก์ชั่นแบบนี้กันเท่าไหร่ เรามาดูตัวอย่างฟังก์ชั่นเรียกตัวเองที่เขียนกันบ่อยๆ 2 ตัวอย่างกัน

 <?php
	function fibo($num) {
		if ($num == 1 || $num == 2) {
			return 1;
		}
		else {
			return fibo($num - 1) + fibo($num - 2);
		}
	}

	echo fibo(20);
?> 

ตัวอย่างแรกเป็นตัวเลข Fibonacci การใช้งานคือ เรียกฟังก์ชั่น fibo() แล้วใส่ตัวเลขตำแหน่งหลักที่ต้องการเข้าไปเช่น fibo(20) หมายถึงตัวเลข fibonacci ในตำแหน่งที่ 20

 <?php
	function fac($num) {
		if ($num == 0 || $num == 1) {
			return 1;
		}
		else {
			return fac($num - 1) * $num;
		}
	}

	echo fac(5);
?> 

ตัวอย่างที่สองเป็นตัวเลข Factorial หรือ n! การทำงานก็คล้ายๆ กับ fibonacci แต่ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นค่าของ n! เลย

จะเห็นว่า ถ้าหากเราเขียนโปรแกรมแบบปกติ จะต้องมีการใช้คำสั่งวนรอบมาเกี่ยวข้อง แต่ถ้าใช้ฟังก์ชั่นเรียกตัวเองเราไม่ต้องใช้คำสั่งวนรอบเข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำงานของฟังก์ชั่นเลย แต่จะต้องมีเงื่อนไขในการจบฟังก์ชั่นที่แน่นอนด้วย

ก็จบกันไปอีกแล้วกับฟังก์ชั่นในภาษา PHP บทนี้เขียนกันข้ามเดือนเลย เนื่องจากงานเยอะ (แต่มีเวลาเล่นเกม) ก็ต้องขออภัยเพื่อนๆ ที่รอกันอยู่นะครับ ตอนนี้ก็ปิดเทอมแล้ว ยังไงจะพยายามเขียนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วเจอกันครับ

Comments

จำนวนความเห็น